มารู้จัก ความเป็นมาของ เบนโตะ หรือ ข้าวกล่องญี่ปุ่น กันเถอะ!

 

เบนโตะ (Bento) หรือข้าวกล่อง เรามักจะเห็นกันเสมอเวลาที่ดูอนิเมชั่น หรือ ภาพยนต์ชีวิตประจำวันของญี่ปุ่น เวลาพักกลางวัน ชาวญี่ปุ่นก็มักจะหยิบข้าวกล่อง หรือ เบนโตะ มารับประทานกันเสมอ แล้วก็ดูเหมือนจะมีหลากหลายแถมยังดูเหมือนมีการอวดกันเรื่องข้าวกล่องกันเสียด้วยสิ มันเป็นยังไงกันนะ เผื่อหลายคนอาจจะอยากรู้ที่มาขอข้าวกล่องนี้เราจึงมาขอเล่าให้ฟังกันนะครับ ไปรับฟังพร้อม ๆ กันเลย 


ทำไมต้อง “เบนโตะ


ถ้าเกิดว่าเป็นที่ไทยเราได้ยินบ่อย ๆ ว่ากับข้าวมื้อไหนสำคัญที่สุด จะได้ยินเสมอว่า ‘มื้อเช้า’ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วนั่นอาจจะไม่ใช่ เพราะในสังคมสมัยใหม่ของชาวญี่ปุ่นนั้นช่วงเช้าจะมีเวลาน้อยมาก ในมื้อเช้ามักจะนิยมกินอะไรที่ง่าย ๆ หรือเตรียมไว้แล้วตั้งแต่เมื่อวาน แล้วเร่งรีบออกไปทำงานในตอนเช้า แต่ว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุดนั่นก็คือ ‘มื้อกลางวัน’ นั่นเอง ที่จะมีการขายข้าวกล่องหรือข้าวกล่องทำเองไปรับประทานกันจนคุ้นชินนั่นเอง

หากย้อนอดีตกันแล้วล่ะก้เราจะพบว่า ข้าวกล่องในแบบพกพานี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยมนุษย์อย่างเรายังทำการล่าสัตว์กันอยู่เลย มันมีเหตุผลอยู่นะ เพราะว่าในสมัยก่อนการล่าสัตวืนั้นทำได้ยากมากกว่าปัจจุบัน ทำให้มีการออกล่าแต่ละครั้งอาจจะกินเวลาหลายวัน ทำให้ต้องพกอาหารไปเผื่อด้วยในตอนนั้นจะเป็นของจำพวก เนื้อแห้ง หรือ ถั่ว หากตัดภาพเป็นญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ จะเป็น ข้าวปั้น หรือที่เรียกว่า “โอนิกิริ” ที่เป็นที่นิยมสำหรับสายพรานป่าในสมัยก่อน เพราะทานง่ายและเก็บเอาไว้ได้นานค่อนข้างที่จะอิ่มท้องอีกด้วย


ของแถมเกี่ยวกับ “โอนิกิริ”


“โอนิกิริ” ที่มักจะมาคู่กับ เบนโตะ อยู่เสมอ ในสมัยก่อนทำมาจากข้าวเหนียว แต่เมื่อยุคสมัยผันเปลี่ยนไปถึงช่วงยุคคามาคุระ และยุคเซ็งโงกุ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น “อุรุจิโคเมะ” (ข้าวสวยญี่ปุ่น) ในรูปแบบปัจจุบัน มีเหตุผลที่ทำการเปลี่ยนเป็นเพราะว่าในสมัยนั้นเกษตรกรเริ่มหันมาทำการปลูกข้าวชนิดนี้มากขึ้นทำให้ ข้าว เริ่มเป็นอาหารจานหลักของแดนปลาดิบอย่างญี่ปุ่น 


จุดเริ่มต้นของ “เบนโตะ” เริ่มจากการนำไปดูการแสดงงั้นหรอ ?

จริง ๆ แล้ว “เบนโตะ” เป็นสิ่งที่มักจะทำกันเองที่บ้าน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่การซื้อเบนโตะจากร้านค้านั้นเริ่มมาจากการแสดงในสมัยเอโดะ เพื่อให้นักแสดงมาทานหลังการแสดงหลังฉากนั่นเองครับ แถมยังสามารถขายให้ท่านผู้ชมได้ระหว่างดูการแสดง หรือการทำกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เช่น เทศกาลการชมดอกไม้ จนเริ่มมีการตกแต่งตัวของอาหารให้เข้ากับเทศกาลมากขึ้น 


ข้าวกล่องรถไฟ หรืออีกชื่อ “เอคิเบ็ง” วัฒธรรมเบนโตะญี่ปุ่นรูปแบบใหม่


หลังจากที่เบนโตะเริ่มเป็นที่นิยมจากร้านค้ามากขึ้นในช่วงเอโดะ พอเปลี่ยนเป็นยุคสมัยใหม่อย่างยุคเมจิ ก็มีการกำเนิด “เอคิเบ็ง” หรือ ข้าวกล่องรถไฟ ออกมา โดยมีการวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในช่วงที่สถานีรถไฟอุตสึโนมิยะ ในช่วงปี 1891 แต่ว่าเป็นการขายที่เรียบง่ายอย่าง ข้าวปั้น 2 - 3 ก้อน ไส้บ๊วยห่อด้วยใบไผ่อ่อน ๆ เท่านั้น โดยขายตามสถาณีรถไฟต่าง ๆ จนเริ่มมีให้เห็นทั่วประเทศ และเมนูนี้ก็เริ่มถูกพัฒนาจนมาเป็นเมนูอย่าง เบนโตะ ที่เราคุ้นตากันจนทุกวันนี้นั่นเองครับ


การพัฒนาของ เบนโตะ ทั้งตอนนี้และต่อจากนี้


เบนโตะ หรือ ข้าวกล่องญี่ปุ่น ในช่วงหลัง มีการพัฒนาไปอย่างมากจากสมัยก่อน ที่สมัยก่อนจะเน้นการทำกับข้าวเผื่อไว้กินยามว่างหรือช่วงพัก โดยมีการจัดเรียงเพียงเล็กน้อย ให้พอปิดกล่องได้ แต่ว่าในยุคสมัยใหม่ เบนโตะ ของญี่ปุ่นถือว่าเป็นงานศิลปะไปเสียแล้ว ที่ถ้าจะทำข้าวกล่องแบบธรรมดาให้กับลูก ๆ หรือ เด็ก เด็กก็คงจะเบื่อแย่ จนเริ่มมีคุณแม่หลายท่านเริ่มทำข้าวกล่องสวยงามเช่น ลายการ์ตูน หรือ สัตว์ต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบของอาหาร ให้ดูน่ารักน่าเปิดขึ้นมา ทำให้เด็ก ๆ ต่างก็ตื่นเต้นกับข้าวกล่องมื้อกลางวัน สามารถอวดเพื่อน ๆ ให้ดูได้ หรือ สามารถเขียนเป็นข้อความอวยพรต่าง ๆ ประกอบลงไปบนข้าวได้ 


ในอนาคตผมคิดว่าน่าจะมีเบนโตะรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้ชมได้ลุ้นกันอีกแน่นอน เพราะวงการของอาหารนั้นพัฒนากันอยู่เสมอ ถ้าผมได้ไปญี่ปุ่นสักครั้งก็อยากจะลองซื้อข้าวกล่องมาลองชิมบ้างเหมือนกันนะเนี่ย ไหนมีใครบ้างที่ทำข้าวกล่องไว้กินตอนเที่ยงแบบญี่ปุ่นกันบ้างนะยกมือเลยยย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำไมเล่นเกมแล้วต้องด่ากัน

ประวัติของ โดรายากิ ขนมสุดโปรดของ โดราเอมอน

พิซซ่าญี่ปุ่น หรือ โอโคโนมิยากิ(Okonomiyaki) ที่มาเป็นยังไง