ปรัชญาชีวิต การแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม
ปรัชญาดี ๆ จากอนิเมะที่ใช้ได้ในชีวิตธุรกิจ
“กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม” เคยได้ยินชื่ออนิเมะเรื่อง แขนกลคนแปรธาตุ หรือ Fullmetal Alchemist กันหรือเปล่า ใครที่เคยดูน่าจะรู้จักกันดีถึงความสนุกและความเท่ของกฎที่เป็นแกนหลักของเรื่องนี้ที่ชื่อว่า กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ซึ่งในอนิเมะเรื่องนี้เป็นอนิเมะที่เกี่ยวกับการใช้พลังพิเศษ แต่อิงจากกฎข้อที่ว่า คือการได้มาซึ่งอะไรสักอย่าง ต้องมีสิ่งที่เท่าเทียมกันมาแลกเปลี่ยน ต่อให้คุณใช้พลังวิเศษสรรค์สร้างอะไรขึ้นมาได้ ก็มีราคาอะไรสักอย่างที่เราต้องจ่าย ปรัชญาที่ทำให้เนื้อเรื่องจากแฟนตาซีกึ่งวิทยาศาสตร์นี้สร้างความเข้มข้นและความสนุกให้กับอนิเมะเรื่องนี้เป็นอย่างมาก บ้างก็ว่านี่น่าจะเป็นอนิเมะที่ดีที่สุดในด้านเนื้อเรื่องแล้วก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ดีงามไม่ใช่เพียงปรัชญาข้อนี้ที่เป็นแกนของเนื้อเรื่องในอนิเมะเท่านั้น เราสามารถนำปรัชญาข้อนี้มาใช้ในชีวิตของเราได้เช่นกัน แม้มันอาจจะฟังดูเป็นอะไรที่เบียว ๆ หน่อยก็ตาม แต่มาลองอ่านบทความนี้กันดู ว่ามันอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตจริงของเราขนาดไหน
กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมที่ชัดที่สุด
ง่ายที่สุดถ้าจะให้ยกตัวอย่างปรัชญานี้ก็คือ การซื้อมาและขายไปของสินค้านั้นเอง สินค้าแลกกับเงินตรา เงินตราแลกกับบริการ การแลกเปลี่ยนของสิ่งของกับสิ่งของ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ไม่ยอมรู้สึกเสียเปรียบอยู่แล้ว แต่มนุษย์เพียงคนเดียวไม่อาจผลิตหรือสร้างทุกสิ่งที่อย่างขึ้นมาด้วยตัวคนเดียวได้ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยนขึ้น คนหนึ่งผลิตหมูได้ คนหนึ่งผลิตปลาได้ คนหนึ่งผลิตผักได้ และอยากได้สิ่งที่ตัวเองไม่มีบ้าง จึงได้นำสิ่งที่ตัวเองมี ไปขอแลกกับคนอื่น แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณที่ต้องการ กับเสียสิ่งที่ตัวเองมีไปโดยไม่รู้สึกขัดเคือง คนเราเลยมีตาชั่งที่ใช้วัดว่า สิ่งที่ให้กับสิ่งที่ได้รับ มันสมควรแล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นตาชั่งทางความรู้สึกก็เท่านั้น แม้ทุกวันนี้จะมีการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่จริง ๆ แล้วเงินที่จ่ายไปกับของที่ได้มา มันคุ้มค่าหรือเท่าเทียมกันหรือไม่ มีเพียงความรู้สึกเท่านั้นที่บ่งบอกได้ นั่นคือความรู้สึกพึงพอใจ
ยกตัวอย่างสิ่งที่ทำให้คำว่ากฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมดูขัดกัน คือการประมูลสิ่งของ เช่น การประมูลงานศิลปะ การประมูลของกิน ของหายาก หรือัญมณี ก้อนหินสีสวย ๆ ก้อนเล็ก ๆ ทำไมถึงมีค่าได้มากขนาดนั้น ภาพเขียนหรือวาดที่สาดสีใส่ที่ใคร ๆ ก็น่าจะทำได้ ทำไมถึงได้มีคนยอมทุ่มเงินมหาศาลมาจ่ายเพื่อมัน คำตอบนี้มันก็คือง่าย คือความพึงพอใจของผู้ที่มีสิ่งมาแลกเปลี่ยนของทั้งสองฝ่าย ผู้ผลิตผลงานหรือสินค้าชิ้นนั้นมีเรื่องราวความยากลำบากให้กว่าจะได้มาซึ่งสิ่งที่ว่าไว้ และผู้ที่ควักเงินจ่ายก็อยากได้และมีเงินมาแลกเปลี่ยนเพื่อซื้อความพอใจนั้น แล้วมันเท่าเทียมกันได้อย่างไร พูดกันตามตรงคือ แค่ความพอใจของผู้รับหรือผู้ให้แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว จริง ๆ ขนมถุงที่เราซื้อกัน 5 บาท 10 บาท ในร้านสะดวกซื้อ อาจจะไม่คุ้มก็ได้กับเงินที่จ่ายไป แต่เมื่อเราได้เข้าใจว่ากว่าจะมาเป็นขนมซองให้ได้กิน ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง เราจึงได้รู้สึกว่า มันก็คุ้มค่าแล้วกับเงินที่จ่ายไป สุดท้ายมันก็ยังกลับมาที่คำว่า ความพึงพอใจของบุคคลอยู่ดี
ปรัชญาข้อนี้มีตัวอย่างชัด ๆ บ้างไหม
วันนี้ไม่ได้กะจะมาพูดแค่ความหมายอย่างเดียวอยู่แล้ว หัวข้อวันนี้อยากจะพูดไปในเชิงของไลฟ์โค้ชด้วยซ้ำ ว่าการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมที่ว่านี้ เอามาใช้กับอย่างอื่นในชีวิตได้อย่างไร เลยอยากจะมานำเสนอทั้งในรูปธรรม และนามธรรม และไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเดียว มาเริ่มกันที่เรื่องรูปธรรมกันก่อน
ปรัชญาชีวิตการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมที่เห็นชัดที่อยากยกตัวอย่างวันนี้คือ ช่วงนี้เราจะเจอกระแสแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ชอบโทรมาบอกเราว่า มีพัสดุตกค้างบ้าง ให้รีบมาติดต่อหรือโอนเงินให้ ไม่ก็มาในรูปแบบของเราติดเงินเขา หรือมีข้อผิดพลาดในระบบต่าง ๆ แม้เราจะรู้ว่ามันเป็นการโกหกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ แต่ก็ยังมีคนโดนหลอกและสูญเสียทรัพย์สินให้คนแบบนี้อยู่ จะด้วยความไม่รู้หรืออะไรก็แล้วแต่ ปรัชญาข้อนี้จะช่วยเราได้ ลองนึกดู วันหนึ่งคุณไม่เคยสั่งสินค้าอะไรเลย คุณไม่ใช่คนใช้เงินเยอะแยะอะไรด้วย แล้วประเทศนี้ก็มีกฎหมายคุ้มครองเราหลายอย่าง แถมธนาคารคือผู้ที่ดูแลเงินให้เรา วันหนึ่งมีคนมาบอกคุณว่าเงินของคุณหายนะ แต่ไม่ใช่คนของธนาคาร มันฟังดูสมเหตุสมผลไหม หรือเราไม่เคยยืมเงินใครมาก่อน แต่มาบอกว่าเราติดค้างเขา เราเข้าใจว่าคุณอาจจะกังวล เพราะเรื่องเงินเรื่องทองเป็นเรื่องใหญ่ แต่อะไรที่เราไม่ได้ทำจริง ๆ มันเป็นข้อยืนยันแล้วว่าเราไม่ต้องไปกังวลกับอะไร และให้เราตีความไว้ได้เลยว่าที่เรากำลังโดนโทรบอกว่าเราติดตค้างนั่นนี่มันก็คือเรื่องหลอกทั้งเพ ไม่เคยสั่งซื้อของออนไลน์จะมีพัสดุตกค้างได้ไง ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรใหญ่โตให้ต้องโยกย้ายเงินก้อนใหญ่ ๆ ไปมา แล้วจะมามีเงินติดค้างกันได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ธนาคารเป็นคนจัดการให้เรา นี่คือการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ความสมเหตุสมผล” ชีวิตคนเราแม้จะมีช่วงที่ชวนให้เหลือเชื่อไปบ้าง แต่มันก็ยังสมเหตุสมผลอยู่ดี เพราะงั้นเราอยากให้กฎข้อนี้เป็นเหมือนหนึ่งภูมิต้านทานให้กับเหตุการณ์ที่จะเข้ามาในชีวิตของคุณ
ปรัชญาข้อนี้มันมาเกี่ยวกับธุรกิจยังไง
อีกเรื่องหนึ่งคือหากคุณเป็นคนทำธุรกิจ ทุกคนที่ทำธุรกิจใคร ๆ ก็ต้องการผลกำไรกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ การทำธุรกิจประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่างมาก ๆ กว่าจะทำให้ธุรกิจหนึ่งสำเร็จได้ แต่เราอยากชวนคุยกันเรื่องของการตั้งราคา น่าจะมีพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่หรือมือเก่าหลายคนที่ทำธุรกิจกันอยู่ แล้วรู้สึกว่าสินค้าของฉันมันขายไม่ค่อยได้ ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นของดีมีคุณภาพ บางอย่างฉันทำมาด้วยมือ บางอย่างฉันหามาได้จากความลำบาก นั่นคือเหตุผลที่สินค้าที่เราขายต้องมีราคาแพง เรื่องนี้เราไม่เกี่ยงกัน แต่สิ่งที่อาจจะทำให้มันขายไม่ได้อาจไม่ใช่เพราะของ ๆ คุณไม่ดี แต่เพราะคนที่จะซื้อเขาไม่ได้มีความต้องการซื้อตั้งแต่แรกต่างหาก
ปรัชญาข้อนี้เปลี่ยนเป็นชื่อทางเศรษฐศาสตร์ได้ด้วย คือคำว่า อุปสงค์ อุปทาน ความต้องการซื้อ และความต้องการขาย พ่อค้าแม่ค้าหลายท่านมีสิ่งที่อยากมอบให้ก็จริง แต่ผู้ซื้ออาจจะไม่มีความต้องการที่จะซื้อของ ๆ เรา เราเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าหรือเด็กที่เดินเข้ามาในร้านอาหารแล้วขายขนมหรือของกินให้กับลูกค้าในร้าน แต่ไม่มีคนซื้อหรือช่วยอุดหนุน แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของคนที่ซื้อที่ไม่ช่วยแต่อย่างใด พวกเขาก็แค่ไม่ได้ต้องการอะไรที่ถูกเสนอให้แค่นั้นเอง สิ่งที่เราต้องแก้ไขสำหรับผู้ขายก็คือ หาสินค้าที่เขาอาจจะต้องการมาให้ เช่นถ้าเขาทานอาหาร เขาอาจจะอยากได้ของหวานเพิ่ม ถ้าขายของให้คนที่ออกกำลังกายอยู่ตามสวนสาธารณะ น้ำดื่มหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ อาจเป็นที่ต้องการ หรือถ้าคุณเป็นพ่อค้าแม่ค้าแล้วอยากขายอาหาร ทำเลหน้าโรงเรียนหรือสถานศึกษาอาจตอบโจทย์การขายของเราก็ได้ เราเข้าใจนะว่าคู่แข่งอาจจะเยอะ แต่อย่างน้อยการน้ำสินค้าของเราไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา มันก็ต้องดีกว่าการนำของต้องการขาย ไปหว่านขายในที่ ๆ ไม่มีใครอยากซื้อสินค้าอยู่แล้ว
สุดท้ายนี้ ถึงเราจะไม่มีความรู้หรือไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจมาโดนตรง แต่ขอเป็นกำลังใจให้คนทำมาค้าขายที่มีใครที่ต้องเลี้ยงดู หรือมีของอะไรที่เราอยากได้ การแลกเปลี่ยนที่ทำเทียมจะเป็นหนึ่งในข้อคิดชีวิตดี ๆ ให้เราได้มองหาวิธีที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ อยากได้อะไร ก็ต้องหาอะไรตอบแทนคืนไปบ้าง แล้วเราจะได้สิ่งที่เราต้องการแน่นอน ตราบใดที่คนเราไม่ได้ร่ำรวยและใจดีขนาดโยนเงินโยนทองให้กับคนที่ต้องการแต่ไม่มีความสามารถมากพอจะหาได้แบบนั้นไหว อย่างน้อยปรัชญาข้อนี้จะเป็นหนึ่งแนวคิดให้เราหาวิธีที่จะหาเงินให้กับเราได้แน่นอน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น