ความฝัน บอกอะไรเกี่ยวกับสมองของเรา
ความฝันบอกอะไรเกี่ยวกับสมองของเรา
ความฝัน ในที่นี้เราไม่ได้จะมาพูดในแนวไลฟ์โค้ชแต่อย่างใด เรากำลังพูดถึงความฝันในระหว่างการนอนหลับพักผ่อนของเราจริง ๆ วิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบที่แท้จริงว่าทำไมเราถึงนอนหลับและฝันกันยังไม่ได้ หรือพูดให้ถูกคือยังรู้ไม่ครบทุกอย่าง แต่เท่าที่มีการศึกษาก็พอสันนิษฐานกันได้บ้างถึงสิ่งต่าง ๆ ระหว่างที่เรากำลังนอนหลับ วันนี้เรามาคุยกันกับเรื่องราววิทยาศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับความฝันกันดีกว่า
เราฝันเพื่อจดจำ
ในความฝันของเรา เราจะมองเห็นภาพ ไม่ก็เรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นในหัว ถ้าโชคดีคุณก็จะเจอกับฝันดีที่มีเรื่องราวต่าง ๆ ไหลเข้ามาให้เราได้มีสุข พร้อมกับตื่นเช้าขึ้นมาด้วยสดใจเพราะเราได้ผ่านเรื่องราวดี ๆ มา แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นจริงก็ตาม และนั่นก็ชวนเราเศร้าใจนิดหน่อยที่มันไม่ได้เป็นความจริง แต่ในทางตรงกันข้าม เราอาจจะพบกับฝันร้าย บางเรื่องก็แฟนตาซีทรหด หลอนเราจนเหงื่อตกแล้วตื่นขึ้นกลางดึก บางเรื่องก็มาชวนให้เราเศร้าและนั่งร้องไห้หลังจากเราตื่นขึ้นมาในตอนเช้า แต่คิดในแง่ดี อย่างน้อยเรื่องที่เราฝันเมื่อคืนมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง
วิทยาศาสตร์สันนิษฐานถึงความฝันว่าที่เราฝันในตอนนอนหลับ สมองคนเราได้ทำการทบทวนความทรงจำของเราที่เราได้ไปลองรับประสบการณ์มาในตอนกลางวัน หรือตอนที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่เราตื่นนอน ซึ่งเป็นการเล่นภาพต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้เราได้เกิดกระบวนการคิดและเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเกิดความทรงจำ วิทยาศาสตร์เคยบอกว่าภาพที่เราเห็นในความฝันที่เป็นใบหน้าของคน แม้ใบหน้าของคนในฝันจะไม่ใช่คนที่เรารู้จัก แต่วิทยาศาสตร์บอกว่าภาพของคนเหล่านั้นในความฝันคือคนที่เราอาจจะเดินผ่านในแต่ละวัน เพราะเหมือนว่าสมองจะไม่ได้สามารถสร้างสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่ในหัวได้ ต้องเกิดจากการเห็นและจดจำหรือรับข้อมูลเหล่านั้นเข้ามา แม้ว่าเราจะเห็นหน้าคน ๆ นั้นแค่ผ่าน ๆ ตอนที่เราตื่นอยู่ก็แค่นั้น
วิทยาศาสตร์ยังบอกอีกว่า การที่เรานอนหลับจะช่วยให้เรามีความจำที่ดี และมีการคิดเชื่อมโยงอะไรที่ดีกว่าคนที่ไม่ได้นอน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ชีวิตมหาลัยของหลาย ๆ คนที่ไม่ค่อยได้นอน อ่านหนังสือดึกแค่ไหนก็จำไม่ได้ในตอนกลางวันก็เป็นได้ เพราะงั้นเพื่อให้สมองได้ทำงานและจำเนื้อหาที่เราอุตส่าห์นั่งอ่านมันได้เข้าไปอยู่ในตู้เซฟในสมอง คงต้องหาเวลานอนให้ตัวเองแบบจริงจังกันหน่อยแล้วล่ะ แม้ว่านั่นจะดูทำได้ยากไปสักหน่อยสำหรับชีวิตมหาลัยหรือนักเรียนที่ต้องเอาตัวรอดในโลกการศึกษาแบบนี้
เราฝันเพื่อลืม
วิทยาศาสตร์ยังบอกอีกว่าความฝันไม่ได้ทำให้แค่จดจำเท่านั้น แต่เราฝันเพื่อลืมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตอีกด้วย เพราะการที่สมองเราทำงานตอนเรากำลังฝันอยู่ เหมือนกันฉายภาพความทรงจำในช่วงที่เราตื่น และเลือกคัดกรองสิ่งที่เราจะจดจำเป็นความทรงจำระยะยาวหรือถาวรในหัว นั่นแปลว่าจำเป็นต้องกำจัดความทรงจำที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทั้ง ๆ ที่เราเจอเหตุการณ์ในแต่ละวันเยอะแยะไปหมด แต่กลับจำได้แค่เรื่องสำคัญหรือจำได้แค่ภาพบางอย่าง ๆ เลือนลาง ขนาดว่าเราลืมแก้วน้ำหรือกุญแจไว้ไหนเรายังลืมได้เลยใช่ไหมล่ะ
เรามีความฝันน่ากลัวไปทำไม
ในระหว่างที่เราฝัน จะมีบางครั้งที่เรามีความฝันที่ไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไหร่ เราอาจเคยเจอกับเหตุการณ์ร้าย ๆ ในฝัน ไม่ก็เจอเหตุการณ์อันตรายต่าง ๆ เกิดขึ้นในหัว
วิทยาศาสตร์บอกว่าสมองของเราทำการจำลองภาพอันตรายหรือภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่อพิจารณาหาวิธีการรับมือกับสิ่งเหล่านั้น เหมือนกับที่เราฝึกซ้อมดนตรี กีฬา หรืออะไรสักอย่าง ซึ่งจะฝึกให้ได้ผลดีที่สุดหรือเรียนรู้ให้ได้ดีที่สุดก็คือการจำลองเหตุการณ์และลงมือปฏิบัติ ในกรณีของความฝันที่เกิดขึ้นก็เช่นกัน สมองจะพยายามหาทางจัดการกับภัยเหล่านั้น เพื่อให้ยามที่เรามีสติอยู่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร เพื่อเป็นการฝึกระบบสัญชาติญาณและการตอบสนองที่ดีเมื่อเราต้องเจอกับเหตุการณ์จริง แต่ก็ไม่ใช่แค่กับเรื่องอันตราย บางครั้งเราก็เจอความฝันแบบธรรมดาไม่ก็ความฝันแบบดี ๆ กันด้วยเช่นกัน ซึ่งกับเรื่องธรรมดาในความฝัน เราก็อยากจะหาทางรับมือกับมันด้วยเช่นกัน
เราฝันเพื่ออัพเกรดตัวเอง
เราน่าจะเคยได้ว่า ในระหว่างที่เรานอนหลับ ความฝันที่เกิดขึ้นคือการทำงานของสมอง แม้ว่าเราจะนอนหลับ แต่สมองของเราไม่ได้หลับไปด้วย มันยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นฟังค์ชั่นการทำงานคนละแบบกับตอนที่เราตื่นอยู่ เช่นสั่งการให้ร่างกายรักษาซ่อมแซมตัวเรา ดูความความจำต่าง ๆ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ไหลเข้าสมองมา หรือเพื่อให้สมองเราไม่หยุดทำงานไปซะก่อน เพราะถ้ามันหยุดทำงานไปก็แปลว่าเราเสียชีวิตนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของการนอนหลับและความฝันที่เราได้เรียนรู้ยังคงเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยที่เราเข้าใจเกี่ยวกับมัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น