ทำไม ของแพง ๆ บางอย่างจึงขายได้

 ทำไม ของแพง ๆ บางอย่างจึงขายได้

  ของแพง ๆ อย่างพวกงานศิลปะ รถหรู ๆ เพชรพลอย เครื่องประดับ ไม่ก็ของแปลก ๆ ที่ดูใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำไมของพวกนี้มันถึงมีข่าวว่าถูกขายไปในคาคาหลักแสนบ้าน หลักล้านบ้าง ทำไมคนถึงยอมจ่ายเงินกันขนาดนั้น มาลองยกตัวอย่าง ๆ งานของที่ใช้ได้อย่างรถยนต์กันก่อน โอเค ซื้อรถมาสักคันก็ต้องได้เอาไปใช้ขับหรือเอาไปอวดเพื่อนบ้าง แต่ซื้อรุ่นที่ไม่ต้องแพงขนาดนั้นได้นี่ หรือต้องประมูลกันใหญ่โตเพื่อให้ได้รุ่นเฉพาะ ทั้ง ๆ ที่มีรุ่นอื่นแบบอื่นที่ก็เท่ไม่แพ้กัน หรือถ้าเป็นเพชรพลอย รูปภาพ หรือของแปลก ๆ หรือวัตถุโบราณ มันเอามาทำประโยชน์อะไรไม่ได้ด้วยซ้ำนอกจากตั้งโชว์ไว้เฉย ๆ แต่ทำไมต้องประมูลแย่งกัน วันนี้เราอยากพามาชวนคุยเรื่องของแพง กันหน่อย เพราะมันมีเหตุผลของมันอยู่ มันจึงขายได้ขนาดนั้น

อุปสงค์และอุปทาน มีคนต้องการก็มีคนอยากขาย

  ของแพงหรือของถูก ก่อนจะไปเรื่องนั้น มาทวนความรู้ในชั้นเรียนวิชาสังคมกันหน่อย คือเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน ดีมานด์ (Demand) และ ซัพพลาย (Supply) ความต้องการซื้อและความต้องการขาย แม่ค้าเนื้อหมูอยากจะขายเนื้อให้คนอื่นเพื่อหาเงิน และลูกค้าก็อยากได้เนื้อไปทำชาบูกินที่บ้าน อุปทานคือแม่ค้าอยากให้ของ และอุปสงค์จากลูกค้าที่อยากได้ของ หลักการง่าย ๆ ทั่วไป นี่คือสิ่งที่ทำให้โลกเกิดเศรษฐกิจเกิดขึ้น และเนื่องจากมนุษย์เราไม่ได้แค่ อยาก แต่ จำเป็น ต้องมีอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย นั่นแหละว่าปัจจัยสี่เหล่านี้จะเป็นอุปสงค์หรือดีมานด์ก็จะยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ามนุษย์เราจะวิวัฒนาการจนไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้นั่นแหละ ซึ่งเราก็จะต้องพยายามไปหาเงินมาเพื่อใช้สอยและซื้อของพวกนี้ เมื่อมีความต้องการ ก็ต้องมีคนที่อยากได้เงินจากเราไป พวกเขาคือผู้ที่มีสิ่งที่เราต้องการ และต้องการจะมอบให้เพื่อแลกกับเงิน ทั้งสองมาพบกันและซื้อมาขายไป

แล้วของแพง มันแพงเพราะอะไร

  ของแพง ที่มันแพงได้นั้นมีอยู่หลายเหตุผล หลัก ๆ คือข้อแรก ของแพง เพราะจำนวนที่ผลิตได้มันมีน้อย และเวลาหรือต้นทุนในการผลิตมันสูง เช่น สมมุตว่าเนื้อหมูของคุณนายเอเป็นเนื่อหมูที่อร่อยมาก ๆ ทำแบบไหนก็อร่อย แต่หนึ่งวันจะมีขายแค่ 5 กิโลกรัมเท่านั้น แต่กว่าจะได้หมู 5 กิโลนี้มาขายครั้งหนึ่ง จะต้องใช้เวลาทำอยู่หลายวัน เมื่อคุณนายเออยากจะขายของให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพตัวเอง ก็ต้องตั้งราคาให้สมกับที่ใช้เวลาให้กับมัน ค่าอาหารเท่าไหร่ เวลาที่ใช้ไปเท่าไหร่ เราเหนื่อยไปเท่าไหร่ ทั้งหมดถูกตีราคามาตั้งไว้ที่เนื้อหมูนี้ ต้นทุนทำให้ได้ราคาหลัก และความรู้สึกคือสิ่งกำหนดกำไร ตั้งราคาเท่าไหร่ให้มันได้คุ้มกับค่าเหนื่อยของเรา

 อีกสาเหตุของความแพง คือความต้องการซื้อของคน ที่ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่ต้องการ เราอยากได้เนื้อหมูนี้ในราคา 1000 บาท แต่เมื่อมีคนอื่นที่อยากได้มากกว่า เขาก็จะให้ราคาที่มากกว่า อาจจะเป็น 1200 บาท เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น คนก็จะพยายามเสนอราคาที่ตัวเองอยากจะจ่ายให้ เพื่อให้ได้เนื้อหมูชิ้นนั้นมาลิ้มลอง นี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่าดีมานด์หรือความต้องการซื้อ และเมื่อราคามันสูงขึ้นจากความต้องการที่แย่งกัน นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้ของมันแพงขึ้นนั่นเอง


แล้วของแพงที่ไม่ใช่ของกินหรือของใช้ล่ะ

  ของแพงแต่เป็นของจำเป็น ถ้าจะแพงก็เป็นไปตามเหตุผลที่ว่าไปแล้วข้างบน แต่คงจะอยากรู้เหมือนกันใช่ไหมว่า พวกของสะสมอย่างภาพวาด วัตถุโบราณ หรือเพชร หรืออะไรก็ตามที่เราทำได้แค่ ชื่นชม ทำไมมันต้องเป็นของแพงขนาดนั้น เหตุผลจะยังเป็นเหมือนกับข้อแรกเหมือนกับคือเรื่องของจำนวนการผลิต และความต้องการของคนซื้อ เพราะตัวอย่างเช่น งานศิลปะราคาแพง ๆ เพราะงานศิลปะนั้นมีจำนวนแค่ชิ้นเดียว หรือบางงานศิลปะอาจจะมีหลายชิ้น แต่มีจำนวนที่ทำออกมาได้น้อย หรือจำกัดจำนวน นั่นแปลว่าความหายากของมันคือสิ่งที่สร้างราคาให้กับมัน หรือรถหรู ๆ ที่จะถูกผลิตออกมาจำนวนน้อยชิ้น และผลิตจากของคุณภาพสูงที่เป็นของแพงมาตั้งแต่ต้นทุนแล้ว รวมถึงอัญมณีหรือทองที่กว่าจะไปเจอก็ต้องผ่านวิธีการค้นหา ขั้นตอนการนำมันออกมา และเวลาที่กว่าจะได้มันมาสักชิ้น กินเวลาและต้นทุนไปเท่าไหร่กว่าจะได้ราคาขนาดนี้
  แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันเป็นของแพงคือ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์อยู่กับอารมณ์ และอารมณ์คือสิ่งที่ทำให้พวกเราตัดสินใจ สมมุติเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่อาจจะฟังดูแย่หน่อย สมมุติว่าเราหรือคนในครอบครัวเราหลงทางในป่าระหว่างไปเที่ยว เพื่อที่จะช่วยชีวิตคนในครอบครัว เราก็คงจะไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ และถ้าเป็นไปได้ เราก็คงยินดีที่จะจ่ายเงินให้กับการช่วยเหลือของเรา นี่น่าจะเป็นการยกตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุดแล้ว หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เราแค่อยากได้สิ่งนั้น ๆ จากอารมณ์ของเรานั่นเอง และอารมณ์นั้นจะมากหรือจะน้อย ก็ประกอบด้วยอีกหลาย ๆ เงื่อนไขอีกเช่นกันที่ทำให้มันแพงขึ้น

คนอยากได้ จ่ายเท่าไหร่ก็จะเอา

  สำหรับผู้มีรายได้ไม่เยอะแบบเรา ๆ ก็ต้องมีช่วงเวลาที่เราอยากทานของแพง ๆ กันอย่างชาบู หมูกระทะ เนื้อย่างเกาหลี หรือมื้อพิเศษ ๆ กันบ้าง ทั้ง ๆ ที่กินข้าวธรรมดามันก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเหตุผลที่จ่ายเงินกินของแพง มันก็ไม่เชิงเป็นเรื่องของเหตุผล แต่เป็นอารมณ์ล้วน ๆ นี่แหละที่ทำให้เราอยากจ่ายเงินให้ของแพง ๆ แบบนี้ และเมื่อความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน คนที่จะอยากได้ของแพง ๆ ถ้าเขามีเงิน เขาก็ยินดีที่จะจ่ายให้เช่นกัน มันต่างกันแค่เป็นของที่สเกลของราคามันต่างกันไปหน่อยแค่นั้นเอง เสื้อผ้าแบรนด์เนม รถยี่ห้อหรู หรือของหายากจากอินเทอร์เน็ต ของแบบนี้ทำให้เกิดอารมณ์ที่ว่า ของมันต้องมี กันทั้งนั้นใช่ไหมล่ะ อารมณ์แบบนี้ก็ไม่ต่างกันสำหรับผู้ที่จ่ายเงินซื้อของคนอื่น ๆ ที่ไปซื้องานศิลปะหรือเครื่องเพชร แค่ราคาที่พวกเขาจ่ายและฐานะของพวกเขามันคนละแบบกับเราแค่นั้นเอง


  เพราะงั้น ถ้าเห็นเพื่อนเราซื้อของแพง ๆ แล้วเอามาอวดเรา ทำเรารู้สึกว่าเราหมั่นไส้ หรืออยากได้บ้าง นั่นแหละ ขนาดเรายังรู้สึกอยากได้ ทำไมเพื่อนเราหรือคนอื่น ๆ จะไม่อยากได้ด้วยเหมือนกันล่ะ เพราะงั้นถ้าจะไปคอมเมนท์ใครว่าทำไมต้องซื้อของแพง ไม่ต้องไปว่าเขาหรอก เราก็มีของที่เราอยากได้ และเขาก็มีของที่เขาอยากได้เหมือนกัน แต่เพราะทั้งเหตุผลและอารมณ์แบบนี้นี่แหละที่ทำให้เศรษฐกิจมันเกิดขึ้นและกว้างขวางกันขนาดนี้ ถ้าไม่มีความต้องการในของที่ตอบสนองต่อความต้องการทางอารมณ์ เราก็คงจะมีแต่ของใช้ที่จำเป็นให้ได้อุดหนุน มันก็จะไม่เกิดความหลากหลาย ไม่เกิดเศรษฐกิจ ไม่เกิดอาชีพ และไม่เกิดการพัฒนา แม้ว่าของแพง ๆ จะดูไร้สาระเวลาที่ต้องเห็นคนเอาเงินก้อนใหญ่ ๆ เข้าไปแลกมา แต่รู้หรือไม่ว่าอย่างน้อย เงินที่พวกเขาได้จ่ายให้กับสิ่งเหล่านั้น มันได้เข้าไปเติมเชื้อไฟเข้าไปในกระบวนการของเศรษฐกิจ มันได้สร้างอาชีพและมอบเงินให้กับผู้ที่ต้องการมันหลายคนด้วยกัน ไม่มากก็น้อย เงินนั้นจะถูกนำไปหมุนในกระบวนการ ๆ ผลิต เพื่อให้คนได้ใช้ชีวิต และใช้เวลามาสร้างผลงานหรือสินค้าใหม่ ๆ ต่อไป  

  


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวอังคาร จะเป็นบ้านหลังใหม่ของมนุษย์ได้หรือไม่

วิธีเล่นเกมสร้างเมือง เล่นยังไงให้ไม่ปวดหัว

อยากเก่งภาษาอังกฤษ แต่จะเริ่มยังไงดี