อาหารไทย ทำไมต่างชาติถึงชอบ

 

อาหารไทย ทำไมต่างชาติถึงชอบ

  อาหารไทย หลากหลายเมนูที่อร่อย ดัง และเป็นที่นิยมระดับโลก ซึ่งเราน่าจะเคยได้ยินว่าเวลาต่างชาติพูดถึงอาหารไทย ต้องได้ยินชื่อ ผัดไท ต้มยำกุ้ง กรีนเคอรี่ หรือแกงเขียวหวาน หรือมัสมั่น อาหารที่เคยขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในโลก ทำไมต่างชาติทั้งฝั่งยุโรป หรือเอเชียด้วยกันต่างพากันพูดถึงกันว่าอร่อยนักหนา ทั้ง ๆ ที่สำหรับคนไทยเราที่กินอยู่กันเป็นประจำอาจรู้สึกว่า เมนูอื่นอร่อย ๆ ก็มีตั้งเยอะแยะ อะไรที่อร่อยกว่าผัดไทก็มีเยอะแยะ เคยกินส้มตำหรือยังอร่อยนะ หรือไม่ก็อย่างอื่นที่เป็นเมนูบ้าน ๆ ก็ถูกปากเหมือนกัน วันนี้เราจะมาชวนคุยกันว่าทำไมต่างชาติถึงชื่นชอบอาหารไทยกันขนาดนี้

อาหารไทยกับอาหารต่างชาติต่างกันอย่างไร

  นอกจาก อาหารไทย เคยลองทานอาหารสัญชาติอื่นกันหรือไม่ ถ้าคุณได้ลองทานอาหารสัญชาติอิตาลี่อย่างสปาเก็ตตี้ มักกะโรนีอบชีส หรือพิซซ่า คุณจะสัมผัสได้ว่า รสชาติของอาหารบ้านเขาที่เป็นฝั่งยุโรป จะออกไปทางเลี่ยน ๆ มัน ๆ ด้วยชีส ชีสเยอะ ๆ คือดีงาม อาหารต้องมันต้องครีมเยอะ ๆ ถึงอร่อย หรือจะลองอาหารญี่ปุ่นสุดเฉพาะตัว ซูชิ ราเมง แกงกะหรี่ หรือเมนูอื่น ๆ คุณจะได้สัมผัสรสชาติสุดเฉพาะตัวที่เน้นกลิ่นจากวัตถุดิบและรสชาติอ่อน ๆ รับประทานง่าย หรือจะเป็นฝั่งอเมริกาที่เราจะเจอสเต็ก ไม่ก็แฮมเบอร์เกอร์ แต่เราอาจไม่ค่อยได้เจอเมนูพื้นบ้านของเขาเท่าไหร่ เคยสังเกตุกันไหมว่า จริง ๆ แล้วอาหารต่างชาติที่เราทานไป มันไม่โดนใจคนไทยอย่างเราเลย ในขณะเดียวกันก็มีชาวต่างชาติหลายคนถูกอกถูกใจกับอาหารบ้านเราเหลือเกิน เรื่องนี้แอบมีเหตุผลด้วยนะ

  

  อย่างแรกคือเรื่องวัตถุดิบ บนโลกนี้สิ่งที่ทำให้อาหารแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ก็คือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ประเทศหนึ่งก็ปลูกได้แบบหนึ่ง อาหารไทยก็ใช้วัตถุดิบแบบหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถหาได้ในต่างประเทศ ด้วยข้อกำหนดเรื่องวัตถุดิบนี่แหละที่ทำให้มันต่างกัน และเป็นตัวหล่อหลอมวัฒนธรรมด้านอาหารให้แต่ละประเทศ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาหารไทยโดดเด่น คือเรื่องของสมุนไพร ถ้าลองเทียบกันดู ฝั่งยุโรปหรืออเมริกาที่เป็นประเทศเมืองหนาว เขาจะมีพืชผักสมุนไพรที่ไม่เหมือนบ้านเรา ในขณะที่อาหารไทยหรือประเทศไทย สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด และที่เด่นจริง ๆ คือวัตถุดิบหลายอย่างของเราให้กลิ่นและรสที่แรงหรือจัด เคยสังเกตุกันไหมว่าเรากินอาหารไทยทุกวันนี้ รสชาติมันจัดจ้านเมื่อเทียบกับประเทศอื่น มีรสมีชาติกว่าอาหารสัญชาติยุโรป อาหารยุโรปเราจะได้ยินกันติดหูว่าต้องใส่เกลือกับพริกไทย แล้วก็จะมีแต่เกลือกับพริกไทย แต่สมุนไพรอื่น ๆ เราจะไม่ค่อยได้เห็นเลย มันคือสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับอาหารไทยและอาหารอื่น ๆ 

  และถ้าพูดถึงอาหารรสจัด ไม่พูดถึงอาหารตะวันออกอย่างอินเดียก็คงไม่ได้ ประเทศที่ความเด่นของอาหารคือเครื่องเทศ ที่กลิ่นและรสไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอาหารไทยเลย แถมยังมีความหลากหลายทั้งสี รส กลิ่น และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่รู้ว่าคนคิดเหมือนกันไหม คืออาหารอินเดีย ถึงจะมีสีไหน ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าจะมีรสชาติแบบนั้น เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารอินเดียก็ว่าได้

  ตัดภาพไปที่อาหารญี่ปุ่น เครื่องปรุงของเขาจะมีอยู่หกอย่างหลัก ๆ มินริน โชยุ ดาชิ น้ำตาล เกลือ และสาเกหรือเหล้าญี่ปุ่น และหกอย่างนี้หากเปลี่ยนอัตราส่วนไป ก็จะกลายเป็นอีกสูตรการทำอาหารหรือคนละเมนูกัน ประกอบกับพืชผักต่าง ๆ ที่สามารถปลูกได้ในประเทศตัวเอง แต่ถ้าได้ลองสัมผัสดู หลายคนอาจรู้สึกเหมือนกันว่าอาหารญี่ปุ่นมันอาจจะจืดไปหน่อย หรือพูดให้ถูกคือมันเน้นกลิ่นของวัตถุดิบ เช่นปลาดิบซูชิหรือซาชิมิ อร่อยก็คืออร่อยที่เนื้อปลาไปเลย อะไรประมาณนั้น


อาหารไทยกับรสชาติที่ฝากไว้ที่ลิ้น

  ด้วยรสชาติของแต่ละประเทศที่พูดมาก่อนหน้านี้ เหตุผลที่ทำให้ต่างชาติชอบอาหารไทยเอามาก ๆ คือเรื่องรสชาติ อาจจะฟังดูธรรมดามาก พูดให้ละเอียดกว่านี้คือ รสชาติที่ทำลายความเคยชิน ถึงจะถูกกว่า ถามว่ามันคือการที่อาหารอร่อยกว่าใช่ไหม มันก็ใช่ แต่ลองพูดเป็นเหตุเป็นผลดู สมมุติว่าเราเป็นคนญี่ปุ่น เราทานอาหารบ้านตัวเองมาตลอดชีวิตและรู้สึกว่านี่แหละคืออร่อยแล้ว แล้วมาทานอาหารไทย ซึ่งคนไทยอย่างเรารู้ว่าอาหารบ้านเรามันรสจัด แต่เรากินกันจนชิน ถ้าคนญี่ปุ่นที่ชินกับอาหารรสอ่อนแต่อร่อยมาตลอดชีวิต มากินของรสชาติจัด ๆ จนบาดลิ้นล่ะ มันจะเป็นอย่างไร เพราะรสชาติจัดจ้านที่ไปกระชากต่อมรับรสของคนต่างชาตินี่แหละเป็นเหตุผลให้คนชอบอาหารไทย ถ้าพูดในมุมมองวิทยาศาสตร์น่ะนะ 

  หรืออย่างประเทศฝั่งยุโรปที่บอกว่าชอบ อาหารไทย มาก ได้มาลองสัมผัสข้าวไทย ประเทศที่กินชีสกับนมหรืออาหารรสมันแล้วอร่อยมาตลอดชีวิต มาเจอรสชาติมัน ๆ แต่จัดจ้านของอาหารไทยดูสักที มันคงจะไปเปลี่ยนฐานข้อมูลเรื่องรสชาติในลิ้นเขาได้บ้างแหละ ทำให้เขารู้สึกชื่นชอบอาหารไทยและรสชาติแบบไทย ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเขาชอบอาหารไทยเราอย่างเดียว ในทางตรงกันข้ามก็เป็นเราที่ไปชอบอาหารต่างชาติเหมือนกัน เพราะเราได้สัมผัสรสชาติที่แตกต่าง รสชาติที่ไม่เคยได้เจอในประเทศตัวเอง พร้อมกับรสนิยมของลิ้นคนเราที่ชื่นชอบไม่เหมือนกัน คือสิ่งที่ทำให้ทั้งต่างชาติมาชื่นชอบอาหารไทยเรา และก็เป็นเราเองอีกเช่นกันที่ชื่นชอบอาหารต่างชาติบ้านเขา


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติของ โดรายากิ ขนมสุดโปรดของ โดราเอมอน

ทำไมเล่นเกมแล้วต้องด่ากัน

งานศิลปะ ไม่จำเป็นกับชีวิตจริงเหรอ